การผลักดันกำหนดนิยาม “โรคร้ายแรง” โดยคณะทำงานประกอบด้วย สำนักงาน คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นประธาน ร่วม กับสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัย และแพทยสภา ซึ่งในตอนแรกคาดว่าจะแล้วเสร็จตั้งแต่มิถุนายน 2554 แต่จนถึงขณะนี้ยังคงยืดระยะเวลาออกมา เพื่อให้ แน่ใจที่สุดว่าจะไม่มีปัญหาในภายหลัง และเกิดมาตรฐานอย่างแท้จริงต่อธุรกิจประกันภัย

> แจงเหตุช้าต้องทำความเข้าใจทุกฝ่ายสรุปคัด 46 โรคร้ายแรงกำหนดนิยาม

แหล่งข่าวจากสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าการกำหนดนิยามโรคร้ายแรงว่า ในตอนแรกที่คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเสนอขอความเห็นชอบจากเลขาธิการคปภ.ในเดือนมิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา ได้ แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน และรายละเอียดมาก จึงต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจต่อทุกฝ่าย ทั้งบริษัทประกันภัย คปภ. และแพทย์ผู้รักษา โดยเฉพาะผู้ขายที่ต้องเข้า ใจอย่างถ่องแท้ เพราะต้องไปอธิบายให้กับลูกค้าให้เข้าใจชัดเจน ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจตรงกันกับทางแพทย์ ถึงลักษณะของโรคร้ายแรง แต่ละโรคและเงื่อนไขความคุ้มครองในแต่ละโรค เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในเรื่องขอบเขตความคุ้มครองตามกรมธรรม์และการวินิจฉัย ของแพทย์

“ความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ เพราะ หากไม่เข้าใจตรงกันก็จะทำให้เกิดปัญหา ตามมา ดังนั้น จึงค่อนข้างใช้เวลาเพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อนิยามโรคร้ายแรงออกมาแล้วจะไม่มี ปัญหา โดยการคัดเลือกโรคที่จะกำหนดนิยามโรคร้ายแรงสุดท้ายเราเลือกมา 46 โรค จากเดิมคัดมาแค่ 42 โรค เพื่อให้ครอบคลุมกับที่มีขายอยู่ในตลาดปัจจุบัน ทั้งบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย ซึ่งต่อไปจะใช้นิยามเหมือนกันหมดและจะต้อง กำหนดคำนิยามไว้ในกรมธรรม์ด้วย”

> เหลือแค่ประชุมนัดสุดท้ายคปภ.รอชง “จันทรา” ก่อนหมดวาระ

ทั้งนี้ การกำหนดนิยามโรคร้ายแรง จุดประสงค์หลัก คือ ต้องการให้ลูกค้า หรือผู้บริโภคไม่เกิดความสับสน เนื่องจาก การขายปัจจุบัน ทุกบริษัทต่างก็ยึดนิยามโรคร้ายแรงของตัวเองจึงไม่ตรงกัน จึงเกิดปัญหาลูกค้าไม่เข้าใจในแง่ของความคุ้มครองที่แตกต่างกันของสินค้าของ แต่ละบริษัท หากมีการกำหนดความคุ้มครองของแต่ละโรคไว้ตรงกัน ก็จะทำให้ลูกค้าเข้าใจได้ โดยได้ให้ทางแพทยสภาเป็นผู้กำหนดนิยามโรคร้ายแรงทั้ง 46 โรค โดยคณะทำงานตั้งใจที่จะให้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง ซึ่งจะกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจได้

อย่างไรก็ดี ขณะนี้คณะทำงานเหลือ เพียงแค่การประชุมเพื่อสรุปความเรียบร้อยครั้งสุดท้ายในเดือนนี้ ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และสามารถจะนำเสนอขอความเห็นชอบจากนางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการ คปภ. ได้ทันก่อนที่จะหมดวาระสิ้นเดือนตุลาคมนี้

ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงาน คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวกับ “สยามธุรกิจ” ว่า นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการ คปภ. เร่งเรื่องการกำหนดมาตรฐานโรคร้ายแรงที่จะมีการให้คำนิยามกันใหม่อยู่เหมือน กันเนื่อง จากขณะนี้ทางภาคธุรกิจคือ สมาคมประกันชีวิตและสมาคมประกันวินาศภัยยังไม่ส่งรายละเอียดโรคร้ายแรงที่จะ เข้าข่ายมีอะไรบ้าง

“เรากำลังตามเรื่องนี้จากสมาคม อยู่ เขาบอกยังไม่ส่งให้ เพราะยังไม่เรียบร้อย เวลาผ่านมาพอสมควรแล้ว ก็เข้าใจเพราะเรื่องนี้ละเอียดอ่อน จะเร่งรีบทำไม่ได้ ท่านเลขาธิการก็เร่งอยู่ควรให้มีมาตรฐานออกมาโดยเร็ว”

> อนาคตมีมาตรฐานอนุมัติกธ.เร็วลูกค้าหายห่วงชีวิต-วินาศภัยยึดตรงกัน

ส่วนที่ภาคธุรกิจจะกำหนดมาตรฐานโรคร้ายแรง 46 โรคก่อนนั้น แหล่ง ข่าวกล่าวว่า จริงๆ แล้วเวลาที่บริษัทประกันภัยมายื่นขอความเห็นชอบโรคร้าย แรงต่างๆ มีทั้ง 46 โรคนี้อยู่แล้ว แต่ที่ผ่าน มาต่างคนต่างกำหนด ไม่ได้เป็นมาตรฐาน เดียวกัน ระดับไหนถึงจะเรียกว่าเป็นโรคร้ายแรง ทำให้ความคุ้มครองผิดเพี้ยนไป ไม่เป็นมาตรฐานเท่าที่ควร ซึ่งบางโรค คปภ.ไม่ยอมรับความคุ้มครองทำให้เกิดปัญหา หากมีการกำหนดเป็นมาตรฐานออกมา คปภ.สบายใจไม่ต้องกลัวว่าบริษัท ประกันภัยจะใส่เงื่อนไขอะไรเพิ่มเติมเข้ามานอกเหนือจากนี้ การทำงานง่ายขึ้น การอนุมัติเร็วขึ้นมีความถูกต้องมากขึ้น

“ปัญหาในการขายกรมธรรม์โรคร้ายแรงที่เราพบในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็น ประกันวินาศภัยที่มีการขายประกันภัยโรคร้ายแรงเหมือนกับประกันชีวิตแต่ไม่มี พัฒนาเท่ากับประกันชีวิตที่จะมีหมอมาดูแล มาวินิจฉัยโรคโดยเฉพาะ ขณะที่ประกันวินาศภัยไม่มี พอมีเคลมเกิดขึ้นเกิดปัญหาในการวินิจฉัยโรค ซึ่งจะมีผลต่อการจ่ายเคลม อีกจุดหนึ่งอยู่ที่การขาย ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ทำให้ผู้เอาประกันเข้าใจผิดสร้างปัญหาให้กับ ทั้งระบบ”

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวกล่าวว่า แม้มาตรฐานโรคร้ายแรงยังไม่ออกมา ไม่กระทบกับการขายของบริษัทประกัน ภัย สามารถขายกรมธรรม์เดิมที่ขออนุมัติจาก คปภ. ไว้ก่อนหน้านี้ได้ปกติ เมื่อมาตรฐานใหม่ออกมาจึงค่อยเปลี่ยน มาใช้ของใหม่

icons8-eye-80 จำนวนผู้เข้าชม : 306 ครั้ง